ชามที่ 1 เปิดตำนานสงครามอาหารอร่อย
สำหรับเราน๊ะ อาหารไม่ได้เป็นแค่รางวัลของชีวิตคนอ้วน เป็นความสุขที่สุดเหนือคำบรรยายซึ่งมันก็เป็นธรรมดาสำหรับนักกินทั่วไป และนักวิจารณ์อาหารทั่วไปที่สามารถเขียนพรรณาเรื่องเกี่ยวกับอาหารให้ผู้คนอ่านแล้วรู้สึกอยากไปลองลิ้มชิมรส แต่สำหรับเราน๊ะ การเขียนตำนานอาหารขึ้นมาสักเรื่องนึงมันย่อมรวมเรื่องราวที่เป็นความทรงจำ มีเรื่องของเพื่อน มีเรื่องของความพยายยามของคนหลายคน และมีถ้อยคำมากมายที่เรียงร้อยอยู่ภายใต้น้ำซุป ภายใต้เส้นหมี่ และฝังอยู่ในเนื้อซาลาเปา ที่มันกลั่นมาจากจิตใจของผู้เขียนน่ะ และแต่ละตำนานมันก็เป็นหนึ่งความทรงจำ หนึ่งความสุข ของทุกๆ หนึ่งชามอาหาร คนอื่นอาจเรียงร้อยถ้อยคำผ่าน
จริงๆแล้วเราเกิดและโตที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่น๊ะ แต่ว่าเนื่องจากป๊ะป๋าสุดที่รักเป็นคนแพร่ (แห่ระเบิด) ที่เค้าว่ากันว่านักเลงที่สุดในเมืองเหนือนั่นน่ะ และแม่เราก็เป็นลูกนายอำเภอมือปราบชาวนครศรีธรรมราช ที่เค้าว่านักเลงที่สุดในเมืองใต้นั่นน่ะ ตำนานเล็กๆของเราก็เลยเกิดขึ้นจากสงครามระหว่างเมืองเหนือและเมืองใต้ คล้ายๆสงครามกลางเมืองของอเมริกาเค้าแหล่ะ
แต่สำหรับเราสงครามเล็กๆระหว่างอาหารเหนือและอาหารใต้นั้น เริ่มอุบัติขึ้นที่สามแยกปากหมาของจุฬาฯ (เป็นสามแยกบริเวณคณะวิศวะจุฬาฯ ที่เป็นทางผ่านสำหรับนักศึกษาสาวที่เรียนบัญชี อักษรศาสตร์ เป็นต้น) อันว่าจะเป็นเคราะห์หามยามร้ายดลใจให้สาวนักเลงนครเดินผ่าน แล้วพบพานกับนักเลงเมืองเหนือที่นั่งดัก “บิ๊กเม้า” กันอยู่ ก็ให้บังเอิญสาวเจ้าทำเข็มขัดหลุด ณ. สามแยกปากหมา (เวรแล้ว) แต่ว่าก็ว่า วันหลังสอนบ้างดิแม่ หนูอยากทำให้มันเนียนแบบแม่บ้างเนี่ย เพราะแม้เราจะทิ้งผ้าเช็ดตัวลงพื้นก็ไม่เห็นแววหนุ่มไหนจะเก็บไปให้เราบ้างเลย แต่ก็นั่นแหล่ะ ด้วยกามเทพหรือกามศูรย์ชักนำก็หาทราบได้ไม่นำพาให้ป๊ะป๋าสุดที่รักเก็บเข็มขัดเส้นนั้น แล้วไปประกาศหาเจ้าของ ณ. ห้องเล็คเชอร์ที่ใหญ่ที่สุดของคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ ตะโกนเสียงดังประสา บิ๊กเม้า เพื่อให้สาวเจ้านั้นอายสุดๆ ระอุไปด้วยความแค้นน๊ะเนี่ย ว่าแต่มันขาดแล้วคืนทำไมน่ะ ไม่ทิ้งๆไปซะ ปิ๊งเค้าล่ะดิ และนอกจากความแค้นในใจ เราว่าก็เริ่มมีตำนานความรักเล็กๆ ที่นำไปสู่สงครามอาหารของเราเริ่มต้น ณ. ตรงนี้แหล่ะน๊ะ
ต่อมาอย่างไรก็ไม่ทราบได้ เพราะแม่เล่าไม่ประติดประต่อว่าทำไมสุดท้าย แก๊งของปะป๋ากับของแม่ก็เริ่มต้นเดทหมู่กัน กลุ่มละประมาณ 15 คนไปไหนมาไหนด้วยกันอยู่พักใหญ่ๆ และแล้วป๊ะป๋าก็ดันไปหักอกเพื่อนรักนักเลงเมืองคอนของแม่เรา เลยเกิดความโมโหเล็กๆ เพิ่มเติมจากความแค้นเดิมเรื่องเข็มขัด และก็ด้วยเหตุหลายประการ ป๊ะป๋าก็เริ่มจีบแม่ อาจเป็นเพราะป๊ะป๋าเป็นพวกมีนิสัยชอบความท้าทาย ส่วนแม่มีคู่หมั้นแล้วจึงยิ่งดูท้าทาย อันนี้ ถ้าจะเทียบกับทฤษฎีจิตวิทยาเกี่ยวกับอาหารก็สามารถนำมาอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ส่วนนี้ได้ กล่าวคือ เวลาที่เราเข้าไปกินข้าวในร้านใหม่ๆ เราไม่แน่ใจว่าอะไรอร่อย ก็มักจะดูว่าโต๊ะอื่นเค้ากินอะไรกัน และเราก็สั่งเลียนแบบ ดังนั้น คนที่มีคู่หมั้นแล้วย่อมต้องดีกว่าคนยังไม่มีคู่หมั้น (เพราะมีคนเลือกไว้แล้ว) ส่วนแม่ก็เกิดอยากเปิดคอร์สอบรมป๊ะป๋าว่าไม่ควรหักอกนักเลงเมืองคอนเลยยอมไปเดทด้วย และสถานที่เหล่านั้นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดตำนานสงครามอาหารหลากหลาย
ว่าแต่ว่าเค้ากินอะไรกันบ้างถึงเปลี่ยนจากสงครามเป็นความรักน่ะ เริ่มต้นแม่บอกว่า ผู้ใหญ่สอนไว้ว่าถ้ามีแฟนอย่าไปกินบะหมี่ เพราะมันดูน่าเกลียด แต่นี่แกตั้งใจสร้างสงครามกัน รักของสองท่านเลยเริ่มต้นที่ “บะหมี่จับกัง” เอากันสุดโต่งอย่างนี้เลย บะหมี่จับกังเนี่ยเค้าเน้นเส้นน๊ะ ร้านน่าจะอยู่แถวๆ ถนนราชดำเนิน เค้าว่ากันว่าชามใหญ่มากไม่สามารถกินชามสองได้ แต่ป๊ะป๋าเล่าว่าเส้นนี้หนึบเหนียวไม่บางกัดแล้วจะได้เนื้อได้หนังไม่เข้าปากยังไม่ทันเคี้ยวให้ได้รสก็หลุบหายไปเหมือนกับชายสี่หมี่เกี๊ยวหรอกน๊ะ เราเคยได้ไปกินครั้งนึงด้วยตอนเด็กๆ และเราก็เติบโตมาด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการกินบะหมี่นับแต่บัดนั้นแหล่ะ ทั้งที่หลายคนเข้าใจว่าความอร่อยของบะหมี่อยู่ที่เครื่องปรุง ไม่ว่าจะเป็นหมูแดง ซอสที่ราด เป็นต้น แต่จริงๆ จากประวัติของบะหมี่ทั้งในประเทศจีนและญี่ปุ่น ความสุดยอดอยู่ที่ “เส้นบะหมี่”
เส้นบะหมี่ที่ดีต้องใส่ไข่ที่พอเหมาะจะทำให้บะหมี่มีความหวาน (ไม่ต้องทุ่มน้ำตาลลงไปเหมือนคนสมัยปัจจุบัน) และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้บะหมี่มีรสหวาน บวกกับการนวดที่เข้มแข็งรวดเร็วจะทำให้บะหมี่มีความนุ่ม คนทำบะหมี่ในหนังจีนส่วนใหญ่ที่อร่อยจึงเป็นจอมยุทธ์ที่มาเก็บตัวหนีจากยุทธจักรมาขายบะหมี่ เพราะเค้าจะสามารถทำได้นุ่มกว่าคนทั่วไป บะหมี่จับกังเนี่ยขายกันในหมู่จับกังชาวจีนในเมืองไทยซึ่งคาดได้ว่าคนขายจึงน่าจะเป็นชาวยุทธที่มีความแข็งแรงมากสามารถนวดบะหมี่ได้นุ่มและเหนียวกินกันได้ชามใหญ่ไม่เลี่ยน ใครว่าอาหารอร่อยจะต้องมีไว้สำหรับคนรวยเสมอไป ธรรมชาติย่อมสร้างความสุขไว้ให้ทั้งคนรวยคนจนอย่างเท่าเทียมกัน มันอยู่ที่เรารู้จักสรรหาและรู้จักพอใจกับความสุขใกล้ตัวที่อยู่ตรงหน้ารึเปล่า
แต่ก็น๊ะ แผนหนึ่งไม่สำเร็จ แม้ว่าจะพากันไปกินบะหมี่ชนิดหฤโหดแล้ว ป๊ะป๋าก็ยังไม่เลิกราไป แม่ก็เลยต้องหาแผนสองดำเนินการต่อ โดยพากันไปกินสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้ามไม่ให้ไปกินกับแฟนโดยเด็ดขาดอย่างที่สอง นั่นคือ “ตัวเดียวอันเดียวตุ๋น” ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Cows’ Penis Hot and Sour Soup” ร้านนี้ยังอยู่ถึงปัจจุบันชื่อว่า “ลาภหลังสวน” ตอนนี้รุ่นลูกเป็นคนขายอยู่ (ลูกนี่รุ่นเดียวกับแม่เราน่ะ) รุ่นแม่ก็ยังนั่งเก็บเงินอยู่เป็นการนั่งแบบเอาฤกษ์เอาชัยดูแล้วขลังสุดๆ ความสุดยอดของตัวเดียวอันเดียว คือ มันนิ่มน๊ะ เพราะวัวคงไม่ได้ใช้ส่วนนี้เล่นกล้ามซักเท่าไหร่ แต่การตุ๋นร้านนี้ไม่เหมือนร้านอื่น เค้าตุ๋นแบบต้มแซบของอีสาน กินร่วมกับข้าวเหนียว ไก่ย่าง น้ำตก เสือร้องให้ อย่างเนียนเนื้อนุ่มลิ้น ด้วยความกล้าหาญของคนรักทั้งสอง ดูเค้ากินกันดิโรแมนติกสุดๆ แต่สำหรับเราน๊ะแนะนำว่าใครสนใจอยากเลิกกับแฟนลองพาไปกินดูได้ แต่อย่าบอกสาวเจ้าว่ามันคืออะไรจนกว่าจะกินเสร็จ รับรองมีโอกาสเลิกกันประมาณ 70% พร้อมกับคำว่า บ้ารึเปล่าเธอ....
แต่เค้าทั้งสองก็ผ่านความบ้านั้นมาได้อีก ก็เริ่มถึงเวลาเข้าหาผู้ใหญ่ ป๊ะป๋าเดิมเคยอาศัยอยู่ที่บ้านแถวบางกระบือ (แถวโรงเรียนราชินีบน) กับเพื่อนสนิทของปู่ เราเรียกท่านว่า “ปู่แผ้ว” ซึ่งมีภรรยาชื่อว่า “ย่าแดง” บ้านนี้เค้ามีลูกสาว 3 คน และลูกชาย 1 คน โดยมีป๊ะป๋าเราเป็นเติบโตมาด้วยเหมือนพี่ใหญ่ของบ้าน ซึ่งเป็นครอบครัวที่เรามีความเคารพมาก แต่สิ่งที่เจ๋งสุดๆ ของบ้านนี้น๊ะ คือ บ้านอยู่ใกล้กับ “ตลาดบางกระบือ” และ “ตลาดศรีย่าน” เปี่ยมไปด้วยสัจจะธรรมของกินเพียบ การมาเยี่ยมผู้ใหญ่ของทั้งสองคู่รักก็มีของกินในตลาดทั้งสองนั่นแหล่ะที่กระชับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น
เริ่มต้นก็ต้องเป็นสิ่งที่ทั้งสองโปรดสุดๆ คือ ขาหมูบางกระบือ ซึ่งมีสองร้านแข่งกัน ปัจจุบันยังเหลือให้กินอยู่หนึ่งร้าน อยู่ตรงสี่แยกหน้าโรงเรียนราชินี ถ้ามาจากสถานีรถไฟสามเสนก็จะสามารถเห็นได้ชัดเจนอยู่ซ้ายมือใกล้สะพานลอยคนข้ามบริเวณสี่แยกที่จะตรงไปถนนเขียวไข่กา สำหรับคนชอบขาหมูน่ะน๊ะก็ต้องบอกว่ารสชาติธรรมดามากๆ ไม่ต่างจากขาหมูทั่วไปหรอก แต่สูตรลับอันล้ำลึกของร้านนี้ คือ เค้าราดน้ำสตูเนื้อลงบนขาหมูซึ่งรสชาติเข้ากันสุดๆ เมื่อก่อนเค้ามีต้นหอมกับพริกขี้หนูสวนให้แกล้มพร้อมกับชาร้อน และเพื่อให้เข้ากันเราก็ต้องสั่ง “ไบเล่” มากิน พร้อมกับราดซีอิ้วหวานลงไปบนขาหมูราดสตูเล็กน้อย แต่ว่าเวลาป๊ะป๋ากับแม่ไปกินก็จะสั่งต้นหอมเค้าประมาณ 3 แก้วกับข้าวขาหมูแค่ 2 จาน ปัจจุบันเค้าเลยเลิกเสริฟต้นหอมไปแล้ว แต่อย่างอื่นยังเหมือนเดิม แถมมีเมนูใหม่ คือ สตูหมู ที่มีเฉพาะเสาร์อาทิตย์สำหรับคนที่ไม่กินเนื้ออีกด้วย เสียดายว่าอาซิ้มแกเสียชีวิตไปแล้วส่วนอาแปะก็ป่วย แต่ยังดีที่มีรุ่นลูกสาวสองคนสืบต่อตำหรับขาหมูแสนอร่อย ที่เป็นตำนานรักของบ้านเราอันนี้ ไม่งั้นเราคงเสียใจแย่ที่จะไม่ได้กินอีก
จริงๆ ที่อร่อยแถวตลาดบางกระบือมีอีกหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นข้าวมันไก่ ขนมหวาน น้ำแข็งใส แต่ตลาดก็ถูกทุบไปนานแล้วตอนนี้เลยเหลือแค่ไม่กี่อย่างที่ยังพอเป็นเบื้องหลังของตำนาน อย่างหนึ่งก็ คือ ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ชลธิชา ซึ่งคุณจะเห็นได้ทางขวามือถ้ามาจากสถานีรถไฟสามเสน ถึงก่อนขาหมูบางกระบือเล็กน้อย แต่เห็นง่ายกว่าเพราะคนเยอะ ส่วนร้านขาหมูนั่นจะมีคนเรื่อยๆ มากกว่าคนแน่นๆ เค้าคั่วจริงๆน่ะ เพราะเวลาเรากินร้านอื่น ก๋วยเตี๋ยวคั่วจะทำตัวเหมือนผัดซีอิ้วไม่ใส่ซีอิ๋วแค่นั้น แต่ร้านนี้เค้าคั่วจริงๆ เครื่องเพียบ มากกว่าก๋วยเตี๋ยวอีก และเส้นจะกรอบกว่าร้านอื่นนิดหน่อยเหมือนเอาไปทอด แต่ต้องระวังนิดเดี๋ยวนี้ทำค่อนข้างเค็มต้องเติมน้ำตาลลงไปตัดเล็กน้อยจะได้รสชาติที่พอเหมาะน๊ะ ปิดท้ายด้วยขนมหวานและน้ำแข็งไส ก็พอกล้อมแกล้มไปได้ดี
สำหรับคนที่ชอบก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใสอย่างแม่เรา ป๊ะป๋าสามารถ SEAL THE DEAL ได้ก็น่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นศรีย่าน หน้าตลาดศรีย่านนี่แหล่ะ ปัจจุบันก็ยังอยู่ และยืนยันว่ายังอร่อยมากอยู่ เพราะความสำเร็จของลูกชิ้นศรีย่านนี่เองทำให้เกิดลูกชิ้นหมูนายฮั่งที่อยู่ใกล้ๆกัน ซึ่งรสก็ยังถือว่าด้อยกว่าเล็กน้อย มีคำกล่าวที่ว่า “สามวันจากนารีเป็นอื่น” แต่นี่สามสิบปีผ่านไป (อย่างน้อยเพราะเราอายุประมาณสามสิบก่าๆ และเค้ากินตอนจีบกัน) เราไม่รู้หรอกว่าความรักระหว่างป๊ะป๋ากับแม่เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ แม่เราก็ยังคงชอบกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นศรีย่านไม่มีเปลี่ยนแปลง
หลังจากพบผู้ใหญ่ฝั่งป๊ะป๋าไปแล้ว ป๊ะป๋าก็เริ่มเจาะทะลุทะลวงเข้าสู่ผู้ใหญ่ฝั่งบ้านแม่เราบ้าง อาหารหลักที่กินกันแถวบ้านแม่นั้นคงไม่มีอะไรโดดเด่นเพราะสมัยก่อนสุขุมวิท 93 ยังคงเป็นทุ่งนาป่าเขาไม่เหมือนสมัยนี้ แต่บังเอิญว่าลุงเขย (สามีพี่สาวแม่เรา) มีบ้านอยู่แถวราชวัตรน่ะน๊ะ ซึ่งก็ให้บังเอิญมีตำนานหลายอันที่น่าอร่อยลุ้มชุ่มลิ้น
ร้านแรกก็อยู่กันหน้าบ้านเลยเรียกว่า สุนิตกอล์ฟ ทำไมถึงใช้ชื่อนี้ก็ไม่รู้ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับกอล์ฟซักนิด แต่ว่าสิ่งที่ขึ้นชื่อที่นี่คือ ฟองดู (เนื้อ) ซึ่งเป็นสูตรที่ผสมผสานระหว่างอาหารฝรั่งแบบไทยๆ ที่เข้ากันอย่างลงตัว สำหรับคนที่ชอบทานอาหารฝรั่งเศสแท้ๆที่มีกลิ่นไอของฝรั่งเศสคงไม่ชอบเท่าไร แต่ถ้าอยากได้กลิ่นไอของฝรั่งเศสประยุกต์ที่เป็นรสชาติที่นักเรียนนอกจากฝรั่งเศสสมัยก่อนพยายามประยุกต์และเปิดร้านที่เรียกได้ว่า “เปิ๊ดซะก๊าซ” มากๆในสมัยนั้นล่ะก็ สุนิตกอล์ฟ จะพาคุณย้อนยุคได้ซัก 50 ปีทีเดียว เหมือนกันอีกหลายร้านที่ขายอาหารทำนองนี้ที่แม่เราทานแล้วรู้สึกถึงไออุ่นสมัยเรียนจุฬาฯ ไม่ว่าจะเป็นร้านคาร์ลตัน (CALTON) ที่อยู่บนถนนสีลมตรงสะพานขึ้นบีทีเอสสถานีศาลาแดงก็ดี หรือจะเป็นร้านภรณีที่เดิมขายอาหารพร้อมเครื่องรายคราม แต่ปัจจุบันรุ่นที่ 3 – 4 (ซึ่งอายุประมาณแม่เราน่ะ) แยกกันเปิดเป็น 2 สาขา ในซอยสุขุมวิท 23 หนึ่งร้าน และแถวทองหล่อซอย 5 อีกหนึ่งร้าน และอีกร้านที่น่าระรึกถึง คือ ร้านเลิศรสในสีลมซอย 4 ขายกลางวันอย่างเดียวน๊ะ กลางคืนซอยนี้เป็นซอยโลกีย์เล็กน้อย แต่ก็นั่นแหล่ะ ความอร่อยบางครั้งก็ไม่ใช่ทุกอย่าง เบื้องหลังอาหาร คือ ความสุขความทรงจำ และมันคือ ตำนาน
คนเราที่รักกันอย่างแท้จริงบางครั้งความโรแมนติกก็ไม่ใช่ทุกอย่าง และไม่ใช่มูลเหตุที่สร้างความผูกพันระหว่างคนสองคนเสมอไป ความเหมือนที่แตกต่างและความธรรมดาสามัญ บางครั้งก็เปี่ยมไปด้วยเสน่ และนำพาผู้คนขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งความรักความผูกพันได้ และบางครั้งมันก็กลายเป็นความลงตัวอย่างที่สุด
ป๊ะป๋าเป็นคนเหนือที่กินเผ็ดมาก จึงเป็นคนที่ชอบอาหารปักษ์ใต้ที่สุด แต่แม่เป็นคนปักษ์ใต้ที่กินเผ็ดไม่ได้เลยจึงชอบทานอาหารฝรั่ง (เพราะมันไม่เผ็ด) สมัยเป็นนางแบบร้านรินทร์ที่มีรอบเอวประมาณ 22 นิ้วนั้น อาหารหลักของแม่เรา คือ ไอศครีมบานาน่าสปริท ซึ่งแน่นอนหล่ะ คู่หมั้นของแม่ที่เป็นถึงลูกผู้ว่าราชการจังหวัด (ตระกูลโบราณ) และเป็นนักเรียนนอก (สหรัฐอเมริกา) ย่อมจะสามารถพาแม่ไปทานร้านอาหารสุดหรู แสนโรแมนติก และแสนจะถูกปากได้อย่างแน่นอน ในขณะที่ป๊ะป๋าเป็นนักเรียนทุน และคุณปู่ก็เป็นข้าราชการต่างจังหวัดธรรมดาๆ และมีพี่น้องมากถึง 6 คน ในขณะที่แม่ขับรถมาเรียนหนังสือ และมีผู้ติดตามเรียกว่าคุณหนู ป๊ะป๋าต้องแปลงตัวจากนักศึกษาคณะวิศวะจุฬาฯในเวลากลางวัน เป็นเซียนสนุกเกอร์หารำไพ่ในเวลากลางคืน แต่ก็น๊ะเป็นวิชาที่ปู่ให้มาแต่เล็กแต่น้อยและหากินได้อย่างพอเหมาะ ทำให้ป๊ะป๋าสบายและเป็นฮีโร่ในหมู่เพื่อนอีกด้วย
ดูจากประวัติชีวิตแล้วเค้าทั้งสองช่างแตกต่าง ใครเคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมในละครพวกคุณหนูทั้งหลายจึงหลงรักคนธรรมดาแทนที่จะรักพวกคุณชายด้วยกัน ในขณะเดียวกันพวกคุณชายก็ชอบหลงรักพวกนางสาวจอมแก่นอะไรทำนองเนี้ย สำหรับความเห็นเราน๊ะ มีอยู่สองคำบรรยายแต่หาภาษาไทยที่เหมาะสมไม่ได้ คือ คำว่า “SIMPLICITY” (ความเรียบง่าย) มักจะมาพร้อมกับคำว่า “COZY” หรือ “COMFORTABLE” (ความอบอุ่นสุขสบาย)
ถ้าไม่มีสามแยกปากหมาสองชีวิตคงยากจะมาบรรจบพบกันเพื่อสร้างตำนานพิศวงได้ แต่ในความแตกต่างนั้นมีสิ่งสุดท้ายที่เหมือนกันที่สุด และเป็นสิ่งซึ่งประสานความสัมพันธ์รักของทุกชีวิตในครอบครัวเราได้อย่างไม่มีอะไรมาแบ่งแยก สิ่งนั้น คือ “หมูปิ้งซอยสุจริต” เสียใจที่สุดที่มันเลิกกิจการไปแล้ว คุณยายที่ปิ้งหมูตายไปแล้ว แต่ว่ารสชาติจะยังคงค้างคาในจิตใจไม่รู้ลืม เค้าไม่ทำหมูปิ้งไม้เล็กๆ เหมือนอย่างทั่วไป ทำไม้ใหญ่ๆ ไม้ละขีดกันไปเลย หมักกระเทียมพริกไทยและเครื่องอื่นๆ แล้วน้ำไปย่าง รสชาติที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นหมูปิ้งที่ร้านดาวคะนองลำพูน (จังหวัดลำพูน) ตอนเด็กๆ วันธรรมดาแม่จะพาแวะไปทาน และวันเสาร์-อาทิตย์ พ่อก็จะพาไปทานอีก สรุปบ้านเราทานกันทุกวัน
ในวันนี้ลูกทุกคนโตแล้ว ชีวิตเราก็แยกย้ายกันไปตามที่ต่างๆ แต่ความรักความทรงจำ โดยเฉพาะความอร่อยก็ยังคงฝังแน่นในจิตใจ เราก็ยังย้อนกลับไปทานอาหารที่ร้านในตำนานในชีวิตของเราเป็นเนืองๆ เพราะสำหรับเราอาหารไม่ใช่แค่ทำให้ท้องอิ่มแต่มันมีภาพเก่าๆ ที่ทำให้เรามองย้อนไปแล้วยิ้มอย่างมีความสุข ดังนั้น ก็ขอให้ทุกร้านยังคงอยู่เป็นตำนานต่อไปให้กับทุกคนทุกครอบครัวตราบนานเท่านาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น